โฮมเพจภาวะของดวงตาข้อมูลความรู้เรื่องภาวะของดวงตา

ต้อกระจก: ชนิด สาเหตุ อาการแสดงและการรักษา

พยาบาลกำลังใช้ยาหยอดตาเพื่อรักษาโรคต้อกระจกในดวงตาของผู้ป่วยสูงอายุ

ต้อกระจกเป็นภาวะขุ่นของเลนส์ธรรมชาติของตา เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการสูญเสียการมองเห็นในคนอายุมากกว่า 40 ปีและเป็นสาเหตุหลักของตาบอดทั่วโลกด้วย ชนิดของต้อกระจก:

  • ต้อกระจก ชนิดใต้เปลือกเลนส์ เกิดที่ด้านหลังของเลนส์ ผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงมีความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกชนิดใต้เปลือกเลนส์มากกว่า

  • ต้อกระจก จากตรงกลาง เกิดในส่วนลึกของบริเวณตรงกลาง (นิวเคลียส) ของเลนส์ ต้อกระจกจากตรงกลางมักเกี่ยวข้องการมีอายุมากขึ้น

  • ต้อกระจก จากรอบนอก มีลักษณะขุ่นขาวรูปร่างคล้ายลิ่มซึ่งเริ่มจากส่วนขอบของเลนส์แล้วลามมายังส่วนกลางในลักษณะคล้ายซี่ล้อจักรยาน ต้อกระจกชนิดนี้เกิดในส่วนขอบเลนส์ซึ่งเป็นส่วนของเลนส์ที่ล้อมรอบนิวเคลียสตรงกลาง

อาการแสดงและอาการของต้อกระจก

ในช่วงแรกต้อกระจกมีผลกระทบต่อการมองเห็นของท่านเพียงเล็กน้อย ท่านอาจสังเกตว่าท่านเห็นภาพมัวเล็กน้อยคล้ายมองผ่านกระจกที่ขุ่นหรือมองภาพวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสต์

ต้อกระจกอาจทำให้แสงจากดวงอาทิตย์หรือโคมไฟดูสว่างจ้ากว่าปกติ หรือท่านอาจสังเกตว่าเมื่อขับรถตอนกลางคืน แสงไฟหน้ารถที่ขับสวนมาดูสว่างจ้ากว่าปกติ สีต่าง ๆ อาจดูไม่สดใสเหมือนที่เคยเห็น

ชนิดของต้อกระจกที่ท่านเป็นจะส่งผลโดยตรงกับอาการที่ท่านมีและการเกิดต้อกระจกที่เร็วช้าเพียงใด ตอนเริ่มเกิดต้อกระจกจากตรงกลาง จะทำให้การมองเห็นระยะใกล้ของท่านดีขึ้นชั่วคราว ซึ่งเรียกว่า"สายตากลับ"

แต่สายตาที่ดีขึ้นนี้เป็นแค่ระยะสั้นและจะหายไปเมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามต้อกระจกชนิดใต้เปลือกเลนส์จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ จนกว่าจะเป็นมากแล้ว

หากท่านคิดว่าท่านมีต้อกระจก โปรดไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาเพื่อตรวจตา และยืนยันให้แน่ใจ

ต้อกระจกเกิดจากอะไร

เลนส์ในดวงตา ทำงานคล้ายเลนส์กล้องอย่างมาก นั่นคือรวมแสงไว้บนจอตา เพื่อให้มองเห็นได้ชัด และยังปรับความชัดของตา ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดทั้งระยะใกล้และไกล

เลนส์นี้ประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ โปรตีนมีการจัดเรียงในรูปแบบจำเพาะที่ทำให้เลนส์ใสและยอมให้แสงผ่านได้

แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้น โปรตีนบางส่วนจะกระจุกรวมกันและทำให้บริเวณเล็ก ๆ ของเลนส์เริ่มขุ่น นี่คือต้อกระจก และเมื่อเวลาผ่านไป มันอาจโตมากขึ้นและทำให้เลนส์ขุ่นเป็นวงกว้างมากขึ้น มองเห็นยากขึ้น

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าทำไมเลนส์ตาจึงเปลี่ยนไปเมื่อเรามีอายุมากขึ้นและทำให้เกิดต้อกระจก แต่นักวิจัยทั่วโลกได้พบปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของต้อกระจกหรือเกี่ยวข้องกับการเกิดของต้อกระจก

นอกเหนือจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงของต้อกระจกยังรวมถึง:

  • รังสีอัลตราไวโอเลต

  • เบาหวาน

  • ความดันโลหิตสูง

  • ความอ้วน

  • การสูบบุหรี่

  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

  • ยากลุ่มสแตตินที่ใช้ลดโคเลสเตอรอล

  • การเคยมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบที่ตามาก่อน

  • การเคย ผ่าตัดตามาก่อน

  • การได้รับฮอร์โมนทดแทน

  • การดื่มสุราอย่างมาก

  • สายตาสั้น มาก (สายตาสั้น)

  • ประวัติครอบครัว

ทฤษฎีหนึ่งของการเกิดต้อกระจกคือในหลายกรณี ต้อกระจกเกิดจากการเกิดออกซิเดชั่นในเลนส์ตา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยด้านโภชนาการที่แสดงให้เห็นว่าผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ๆ อาจช่วยป้องกันต้อกระจกบางชนิดได้

การป้องกันต้อกระจก

แม้จะมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันค่อนข้างมากว่าต้อกระจกสามารถป้องกันได้หรือไม่ แต่ก็มีการศึกษาจำนวนหนึ่งแนะนำว่าสารอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างอาจลดความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกได้

การศึกษาวิจัยหนึ่งซึงศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเพศหญิงเป็นเวลา 10 ปีพบว่าการรับประทานอาหารที่มีวิตามินอีและแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) สูง จากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อต้อกระจกที่ลดลงอย่างมาก

แหล่งของวิตามินอีที่ดีจากอาหาร เช่น เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์และผักโขม แหล่งที่ดีของลูทีนและซีแซนทีน เช่น ผักโขม ผักเคล (kale) และผักใบเขียวอื่น ๆ

การศึกษาอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าวิตามินที่ต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซีและอาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 อาจลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจกได้

อีกวิธีที่ท่านสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกคือให้ใส่ แว่นกันแดด ที่ปกป้องรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่ออยู่นอกบ้าน

การรักษาต้อกระจก

เมื่อเริ่มมีอาการแสดง ท่านอาจสามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ชั่วคราวโดยเปลี่ยนแว่นสายตาใหม่ ใช้เลนส์สองชั้นแว่นขยาย อยู่ในที่มีแสงเพียงพอหรือใช้เครื่องช่วยการมองเห็นอื่น ๆ

อาจคิดถึงการผ่าตัด หากต้อกระจกเป็นมากถึงขั้นที่ทำให้การมองเห็นแย่ลงมากและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

ผู้คนจำนวนมากมองว่าสายตาไม่ดีเป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่การผ่าตัดต้อกระจกเป็นหัตถการที่ง่ายและค่อนข้างไม่เจ็บปวดที่ช่วยทำให้การมองเห็นกลับมาดีอีกครั้ง

ในระหว่างการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะเอาเลนส์ที่ขุ่นออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม (IOL) ที่เป็นพลาสติกใสเข้าไปแทนในกรณีส่วนใหญ่

กำลังมีการพัฒนา IOL ใหม่ ๆ เพื่อให้การผ่าตัดง่ายขึ้นสำหรับศัลยแพทย์และให้เลนส์เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากขึ้น IOL ที่แก้สายตายาวตามวัย อาจช่วยให้ท่านเห็นได้ในทุกระยะ มิใช่เพียงระยะเดียว IOL ชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่งปกป้องทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตและ แสงสีฟ้าพลังงานสูงที่มองเห็นได้ซึ่งมีการวิจัยระบุว่าอาจทำอันตรายต่อจอตาได้

แว่นตาและคอนแทคเลนส์หลังการผ่าตัดต้อกระจก

ส่วนใหญ่แล้ว หากท่านมิได้เลือกใช้ IOL ที่แก้สายตายาวตามวัย ท่านจะยังต้องใช้แว่นสายตาเพื่ออ่านหนังสือหลังการผ่าตัดต้อกระจก ท่านอาจต้องใช้ เลนส์โปรเกรสซีฟด้วย เพื่อแก้ไข ค่าสายตาที่คลาดเคลื่อนที่ยังเหลืออยู่นิดหน่อย รวมทั้ง สายตายาวตามวัย.

หากต้องการการมองเห็นที่ดีที่สุดและความสบายตาที่สุดเท่าที่จะเป็นได้จากการใช้แว่นตาที่ตัดหลังการผ่าตัดต้อกระจก โปรดสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาให้อธิบายประโยชน์ของ สารเคลือบเพื่อกันแสงสะท้อน และ เลนส์เปลี่ยนสีอัตโนมัติ.

ต้อกระจกPrevent Blindness เข้าถึงข้อมูลเมื่อเมษายน 2564

ต้อกระจกที่เกิดเมื่ออายุมากขึ้นเกี่ยวข้องเบาหวานชนิดที่ 2 และการใช้ยากลุ่มสแตติน. Optometry and Vision Science สิงหาคม 2555

อาหาร การรับประทานมังสวิรัติ และความเสี่ยงต่อต้อกระจก. The American Journal of Clinical Nutritionพฤษภาคม 2554

ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของต้อกระจกในเบาหวาน: Sankara Nethralaya Diabetic Retinopathy Epidemiology and Molecular Genetics Study, รายงานหมายเลข 17. Investigative Ophthalmology & Visual Science. ธันวาคม 2553

ความเกี่ยวข้องระหว่างการได้รับฮอร์โมนทดแทนกับความเสี่ยงของการผ่าตัดต้อกระจก การศึกษาแบบไปข้างหน้าของผู้หญิง. Ophthalmology. มีนาคม 2553

แคโรทีนอยด์ วิตามินซีและอีในอาหาร และความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกในผู้หญิง: การศีกษาแบบไปข้างหน้า Archives of Ophthalmology มกราคม 2551

การดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงของการผ่าตัดต้อกระจก: การศึกษาแบบไปข้างหน้าโดยศึกษาจากเหตุมาหาผลในผู้หญิง. Ophthalmology. เมษายน 2550

การศึกษาแบบไปข้างหน้าเกี่ยวกับไขมันในอาหารและความเสี่ยงของการผ่าตัดต้อกระจกในผู้หญิงอเมริกัน. American Journal of Epidemiology. พฤษภาคม 2548

เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วนลงพุงในฐานะปัจจัยเสี่ยงของต้อกระจกในคนผิวดำ The Barbados Eye Study. Ophthalmology. มกราคม 2542

การสัมผัสแสงแดดและความเสี่ยงของเลนส์ขุ่นในการศึกษาที่อิงกลุ่มประชากร The Salisbury Eye Evaluation Project. The Journal of the American Medical Association (JAMA). สิงหาคม 2541

การศึกษาแบบไปข้างหน้าเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงของต้อกระจก American Journal of Preventive Medicine. พฤษภาคม มิถุนายน 2537

การศึกษาความขุ่นของเลนส์แบบจากผลมาหาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของต้อกระจก. Archives of Ophthalmology. กุมภาพันธ์ 2534

Find Eye Doctor

ค้นหาจักษุแพทย์ใกล้คุณ

หาหมอตา