โฮมเพจภาวะของดวงตาข้อมูลความรู้เรื่องภาวะของดวงตา

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา: เบาหวานมีผลกระทบกับตาอย่างไร

ผลกระทบทางสายตาเนื่องจากเบาหวานขึ้นจอตา

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาเป็นความเสียหายของจอตาที่เกิดจากเบาหวาน หากไม่รักษา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างมากและแม้กระทั่งอาจตาบอดได้

จากข้อมูลของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF):

  • ในปี 2560 ผู้ใหญ่ (อายุ 20-79 ปี) ประมาณ 425 ล้านคน มีภาวะเบาหวาน และและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 629 ล้านคนภายในปี 2588

  • และในปี 2560 คนอีก 325 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2

  • สัดส่วนคนที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 กำลังเพิ่มขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

  • ในปี 2560 คนที่มีภาวะเบาหวานในช่วงอายุ 40-59 ปีมีจำนวนมากที่สุด

  • ครึ่งหนึ่ง (212 ล้านคน) ของคนที่มีภาวะเบาหวานไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค

เนื่องจากความจริงดังกล่าวและจากการคาดการณ์ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาอาจกลายเป็นวิกฤติหลักด้านสุขภาพของโลกในไม่ช้า  

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลายอย่าง รวมทั้ง ภาวะอ้วน การรับประทานอาหารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพและการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย

โดยทั่วไปแล้ว เบาหวานไม่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาจนกว่าคนนั้นจะเป็นเบาหวานมาอย่างน้อย 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีที่จะรอนานขนาดนั้นก่อนที่จะไปตรวจตา

หากท่านมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมาก่อนแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาเพื่อตรวจตาอย่างละเอียดทุกปี ในบางกรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาอาจแนะนำให้ท่านตรวจตาบ่อยขึ้นเพื่อติดตามสุขภาพจอตาของท่าน

เบาหวานทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้อย่างไร

เบาหวานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของน้ำตาลในเลือด ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายสามารถเปลี่ยนให้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายได้

เมื่อคุมเบาหวานไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงผิดปกติและสะสมในหลอดเลือดทำให้เกิดความเสียหายที่ขัดขวางหรือเปลี่ยนแปลงการไหลของเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของท่าน – รวมทั้งตาด้วย

เบาหวานมีสองชนิดหลัก ๆ

เบาหวานชนิดที่ 1

อินซูลินเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งจำเป็นในการช่วย"ให้อาหาร"แก่ร่างกาย หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ถือว่าท่านต้องพึ่งพาอินซูลินและต้องใช้ยาฉีดอินซูลินหรือใช้การรักษาทางการแพทย์อื่นเพื่อให้อินซูลินซึ่งร่างกายของท่านไม่สามารถผลิตเองได้เข้าไป หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินเองได้เพียงพอ ก็จะไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้และระดับน้ำตาลก็จะสูงเกินไป

เบาหวานชนิดที่ 2

เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทั่วไปจะถือว่าท่านไม่ต้องพึ่งพาอินซูลินหรือถือว่าดื้อต่ออินซูลิน สำหรับเบาหวานชนิดนี้ ท่านผลิตอินซูลินได้เพียงพอแต่ร่างกายไม่สามารถใช้งานอินซูลินได้อย่างเหมาะสม ร่างกายจะชดเชยโดยการผลิตอินซูลินมากขึ้นอีก ซึ่งอาจทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้

สำหรับเบาหวานทั้งสองประเภท การเพิ่มขึ้นสูงอย่างผิดปกติของน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

ความเสียหายต่อดวงตาเกิดขึ้นเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงมาอย่างยาวนานเริ่มอุดตันหรือทำลายหลอดเลือดในจอตาซึ่งประกอบด้วยเซลล์ที่ไวต่อแสง (ตัวรับแสง)ที่จำเป็นสำหรับการมองเห็นให้ได้ดี

อาการแสดงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตาและโรคตาจากเบาหวานอื่น ๆ

อาการแสดงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (DR) และโรคตาที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานอื่น ๆ มีหลายอย่างรวมทั้ง:

ในระหว่างการตรวจตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาจะมองหาสัญญานอื่น ๆ ของภาวะเบาหวานขึ้นจอตาและโรคตาจากเบาหวาน สัญญานของความเสียหายต่อดวงตาที่พบในจอตาอาจเป็นการบวม การสะสมหรือร่องรอยของการมีเลือดออกหรือการรั่วของของเหลวจากหลอดเลือดได้ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาจะใช้กล้องชนิดพิเศษหรือเครื่องมือถ่ายภาพอย่างอื่นเพื่อถ่ายภาพจอตาและหาร่องรอยอาการของความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน ในบางกรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาอาจส่งต่อท่านไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านจอตาเพื่อทดสอบเพิ่มเติมและรับการรักษาหากจำเป็น

ในการวินิจฉัยให้แน่ชัด ท่านอาจต้องทำการทดสอบที่เรียกว่า การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (fluorescein angiography)ในการทดสอบนี้ จะมีการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดที่แขนของท่านซึ่งจะค่อย ๆ ไปปรากฎที่หลอดเลือดที่จอตาและจะทำให้เกิดแสงเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานและการรั่วของเลือดในจอตา

อาการแสดงของโรคตาจากเบาหวานอย่างหนึ่งที่บางครั้งอาจถูกมองข้ามคือความเสียหายของระบบประสาท (โรคทางระบบประสาท) ที่มีผลต่อกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา อาการแสดงมีหลายอย่างรวมทั้งการเคลื่อนไหวของตาแบบไม่ตั้งใจ (ตากระตุก) และการเห็นภาพซ้อน

ชนิดของโรคตาจากเบาหวาน

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงได้ทำลายหลอดเลือดในจอตา จะทำให้มีการรั่วของของเหลวหรือมีเลือดออก ทำให้จอตาบวมและมีสิ่่งสะสมในระยะแรกของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

ในระยะหลัง การรั่วจากหลอดเลือดเข้าสู่น้ำวุ้นตาที่ใสคล้ายเยลลี่ อาจทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นที่ร้ายแรงและในที่สุดอาจทำให้ตาบอดได้

จุดภาพชัดที่จอตาบวมจากเบาหวาน

การบวมที่จุดภาพชัดที่จอตานี้ เกี่ยวข้องกับเบาหวานชนิดที่ 2 บ่อยมากกว่าอย่างอื่น จุดภาพชัดที่จอตาบวมอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงหรือบิดเบี้ยว

จุดภาพชัดที่จอตาบวมจากเบาหวาน (DME) มักแบ่งออกได้สองอย่าง:

  • แบบเฉพาะจุด เกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง หรือความผิดปกติของหลอดเลือดแบบอื่นที่บางครั้งเกิดร่วมกับการรั่วของหลอดเลือด

  • แบบกระจาย ซึ่งบ่งบอกถึงการขยายตัวหรือการบวมของหลอดเลือดเล็ก ๆ (หลอดเลือดฝอย) ภายในจอตา

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Non-proliferative diabetic retinopathy (NPDR))

ระยะแรกของ DR นี้ –- ที่ระบุได้จากสิ่งสะสมในจอตา –- สามารถเกิดเมื่อใดก็ได้หลังเป็นเบาหวาน

มักไม่มีอาการแสดงด้านการมองเห็น แต่จากการตรวจจอตาจะเห็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ ที่เรียกว่าหลอดเลือดโป่งพองซึ่งเป็นการโป่งพองของหลอดเลือดฝอยอย่างหนึ่ง

ในเบาหวานชนิดที่ 1 อาการแสดงระยะเริ่มต้นเหล่านี้มักไม่ปรากฎให้เห็นก่อน 3-4 ปีหลังการวินิจฉัย ในเบาหวานชนิดที่ 2 NPDR อาจปรากฎให้เห็นได้ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาระยะที่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Proliferative diabetic retinopathy (PDR))

ในบรรดาโรคตาจากเบาหวาน ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาระยะที่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่มีความเสี่ยงทำให้สูญเสียการมองเห็นได้มากที่สุด

PDR มีลักษณะของอาการเหล่านี้:

  • เกิดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (การสร้างหลอดเลือดใหม่) บนหรือข้าง ๆ เส้นประสาทตา และน้ำวุ้นตา

  • ภาวะเลือดออกหน้าจอตาซึ่งเกิดในน้ำวุ้นตาหรือหน้าจอตา

  • การขาดเลือดจากการที่เลือดไหลได้น้อยลงหรือถูกปิดกั้นจะมาพร้อมกับการขาดออกซิเจนที่จำเป็นสำหรับสุขภาพที่ดีของจอตา

หลอดเลือดที่ผิดปกติเหล่านี้ที่เกิดจากการสร้างหลอดเลือดใหม่มีแนวโน้มจะแตกและมีเลือดออกเข้าสู่น้ำวุ้นตาได้ นอกเหนือจากการสูญเสียการมองเห็นอย่างกระทันหันแล้ว อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ถาวรกว่าได้ด้วยซึ่งรวมทั้ง จอตาลอกจากการดึงลาก และ ต้อหินจากหลอดเลือดสร้างใหม่.

จุดภาพชัดที่จอตาบวมอาจเกิดโดยลำพังหรือเกิดร่วมกับ NPDR หรือ PDR ได้

ท่านควรรับการตรวจติดตามโรคอย่างสม่ำเสมอแต่โรคตาจากเบาหวานมักไม่ต้องรักษาด้วยเลเซอร์จนกว่าอาการจะลุกลามไปมาก

ใครบ้างที่จะมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

หลังจากที่มีภาวะเบาหวานแล้ว การที่ท่านคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีเพียงใดเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนด โอกาสที่ท่านจะมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาซึ่งมาพร้อมกับการสูญเสียการมองเห็น

ความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ (ความดันโลหิตสูง) เกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อดวงตาที่มาจากเบาหวาน และมีหลายการศึกษาแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้หญิงที่เป็นเบาหวานจะมีการดำเนินโรคไปเป็นภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในอัตราที่มากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

แน่นอนว่ายิ่งคุณเป็นเบาหวานมานานเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นมากขึ้นเท่านั้น ผู้ที่มีโรคเบาหวานเกือบทุกรายที่เป็นโรคนานพอย่อมเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาไม่มากก็น้อยในที่สุด แม้ว่าโรคตาดังกล่าวที่ลุกลามน้อยจะไม่ทำให้สูญเสียการมองเห็นก็ตาม

โปรดจำไว้ว่า: การตรวจตาเป็นประจำเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องดวงตาของท่านจากการสูญเสียการมองเห็นที่เกิดจากภาวะเบาหวานขึ้นจอตาและโรคตาจากเบาหวานอื่น ๆ

Find Eye Doctor

ค้นหาจักษุแพทย์ใกล้คุณ

หาหมอตา